วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สถานที่สำคัญจังหวัดราชบุรี

l
ประวัติจังหวัดเพชรบุรี เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศไทย แต่ไม่มีศิลาจารึกบ่งบอกไว้เป็นหลักฐานตำนานเมืองส่วนใหญ่ ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาได้จากการสันนิษฐานจากโบราณวัตถุที่ตกมาถึงสมัยนี้ สมัยทวารวดี (พ.ศ. 1000-1500) เพชรบุรีเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นต่ออาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีจังหวัดนครปฐมเป็นราชธานี ชื่อเมืองเพชรบุรีนั้นสันนิษฐานว่าพวกพราหมณ์เป็นผู้ตั้งชื่อ โดยนำมาจากอาวุธของพระเป็น เจ้าของพราหมณ์ คือ วชิราวุธ เนื่องจากพวกพราหมณ์ได้เข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้นานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่อารยธรรมอินเดียเข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิหรืออาจตั้งชื่อ จากเพชรพลอยจากเขาเพชร พลอยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งกล่าวกันว่ามีเพชรพลอยสีขาวหลุดลอยมาตามน้ำก็อาจเป็นได้ ชื่อเดิมของเพชรบุรีคือ พริบพรี หรือเพชรพลี สมัยศรีวิชัย (พ.ศ. 1200-1800) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราชได้แผ่อำนาจเข้ามาถึง ทวารวดีและเขมร เพชรบุรีจึงตกอยู่ในอำนาจของกษัตริย์นครศรีธรรมราชด้วย มี หลักฐานปรากฎว่าที่วัดธ่อมีพระพุทธรูป ทำด้วย หินทรายแบบศรีวิชัยอยู่ 2 องค์ นอกจากนี้ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระเจ้าธรรมราชนาเคนทร์ผู้ ครองนครศรีธรรมราช ได้ส่งราชโอรสมาครองเมืองเพชรบุรี มีพระนามว่า พระพนมทเลศรีมเหนทราธิราช กับยังมีเรื่องราวปรากฎว่าในสมัยนั้นบริเวณเมืองเพชรบุรีมีฝางมาก พระเจ้าร่มฟ้า กรุงจีนได้แต่งสำเภาให้ราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการ มาถวายกษัตริย์ผู้ครองเมืองเพชรบุรี แล้วขอพระราชทานฝางไป กล่าวกันว่าครั้งนั้นได้ฝางไปเป็นจำนวนมากเป็นที่พอพระทัย พระเจ้ากรุงจีนจึงทรงยกนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทร มาถวายเป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองเพชรบุรีราชบุตรีผู้นี้ในตำนานกล่าวว่า เกิดในดอกหมาก จึงสันนิษฐานว่านางคงเป็นเชื้อกษัตริย์จามใต้ หรืออาณาจักรปาณุฑรงค์ซึ่งเป็นตระกูลดอกหมากอยู่ในแคว้นจาม และในสมัยนั้นชาวเพชรบุรีคงจะมีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรจามหรือจัมปา ซึ่งอยู่ในอาณาจักรญวนตอนใต้ก็อาจเป็นได้ สมัยกรุงสุโขทัย ในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 เมืองเพชรบุรีตกเป็นของไทยดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่าพระเจ้า ศรีอินทราทิตย์มีอาณาเขตปกครองถึงเมืองเพชรบุรี สมัยที่พระเจ้ารามคำแหงมหาราชเสด็จลงไปรับพระพุทธสิหิงค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้ประทับพักแรมที่เมืองเพชรบุรี เพชรบุรีจึงอยู่ในความปกครองของสุโขทัยจนกระทั่งราชวงศ์พระร่วง เสื่อมอำนาจลง กรุงศรีอยุธยาก็ได้เข้าปกครองเมืองเพชรบุรีสืบต่อมา สมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางใต้ขึ้นกับประแดงจุลาเทพซ้ายและมีเรื่องราว เกี่ยวกับเมืองเพชรบุรีดังนี้ พ.ศ. 2118 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา นักพระสัฏฐาผู้ครองกรุง ละแวกทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแล้ว คงจะอ่อนกำลังลง เห็นเป็นโอกาสที่จะ มาตีเมืองเพชรบุรีเพื่อปล้นสะดม และกวาดต้อนครอบครัวไปเมืองเขมร จึงแต่งตั้งให้พระยาอุเทศราชกับพระยาจีนจันตุคุมทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรี ขณะนั้นพระสุรินทฤาชัยเจ้าเมืองเพชรบุรีป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง จึงตีเมืองไม่สำเร็จจำต้องยกทัพกลับไป แต่พระยาจีนจันตุได้ปฏิญาณไว้ว่าถ้าตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้จะไม่กลับเมืองเขมร ดังนั้นจึงลอบมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ครั้นต่อมาทราบว่านักพระสัฏฐาไม่เอาโทษจึงหนีกลับไปเขมร ใน พ.ศ. 2124 ได้อาสานำกองทัพเข้ามาตีเพชรบุรีอีกเพื่อแก้ตัวใหม่ ทัพเขมรที่ยกมาครั้งนี้มีกำลังถึง 70,000 คน พระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาได้โปรดให้เมืองเทพราชธานี กับเมืองยโสธรยกทัพมาช่วยเมืองเพชรบุรี เขมรยกกำลังเข้าตีเมืองเพชรบุรีถึง 3 ครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาแม่ทัพไทยทั้ง 3 แตกความสามัคคีกัน การป้องกันเมืองจึงไม่พร้อมเพรียงกัน ทัพเขมรเข้าตีด้านคลองกระแชงทางหนึ่ง ทางประตูบานจานอีกทางหนึ่ง ทางด้านคลองกระแชงนั้นกำแพงหักลงไป ที่ตรงนั้นในปัจจุบันเรียกว่าบ้านกำแพงหัก ข้าศึกยกเข้าเมืองได้ แม่ทัพไทยทั้ง 3 ต่อสู้จนเสียชีวิตในสนามรบ เมื่อเขมรเข้ายึดเมืองได้แล้วก็กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติกลับเมืองเขมร ส่วนเมืองเพชรบุรีปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ครอบครอง พ.ศ. 2153 ในรัชสมัยพระเจ้าศรีเสาวภาคย์ พวกญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จึงก่อการกำเริบขึ้น ยกพวกเข้าไปในพระราชวังจับพระเจ้าศรีเสาวภาคย์ได้แล้วบังคับ ให้เซ็นสัญญาว่าจะไม่โทษ และไม่ทำร้ายพวกญี่ปุ่น พระเจ้าศรีเสาวภาคย์จึงจำยอม พวกญี่ปุ่นจับข้าราชการไทยที่ญี่ปุ่นเกลียดชังฆ่าเสียหลายคน แล้วยกพวกไปตั้งมั่นอยู่เมืองเพชรบุรีตามจดหมายเหตุของฮอลันดากล่าวว่า พวกญี่ปุ่นก่อความวุ่นวายขึ้นที่เมืองเพชรบุรี จึงถูกขับไล่ออกจากเมืองไปพวกญี่ปุ่นไปรวมกันอยู่ที่บางกอก ภายหลังถูกขับไล่ออกจากกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2171 ในรัชสมัยพระเชษฐาธิราช พระศรีศิลป์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นอนุชาของพระเจ้า ทรงธรรมคิดชิงพระราชสมบัติจากพระเชษฐาธิราช แต่ถูกจับได้แล้วส่งมาจำขังไว้ที่เมืองเพชรบุรี แต่หลวงมงคลซึ่งเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นพระญาติของ พระศรีศิลป์ ได้ช่วยให้พระศรีศิลป์ออกจากที่คุมขัง แล้วชักชวนชาวเพชรบุรีให้ต่อสู้กับพระเชษฐาธิราช พระเชษฐาธิราชให้เจ้าพระยากลาโหม ยกกำลังมาปราบปราม แต่กองทัพของหลวงมงคลและพระศรีศิลป์เสียที พระศรีศิลป์ถูกจับสำเร็จโทษ ส่วนหลวงมงคลนั้นเจ้าพระยากลาโหมเห็นว่ามีความซื่อสัตย์กล้าหาญ จึงเกลี้ยกล่อมไว้เพื่อเป็นกำลังต่อไป แต่หลวงมงคลมีความซื่อสัตย์ต่อเจ้านายของตนเอง และยอมรับโทษประหารชีวิต พ.ศ. 2302 ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ พระเจ้าอลองพญาแห่งกรุงหงสาวดีโปรดเกล้าฯ ให้มังระราชโอรสกับมังมหานรธายกทัพมาตีเมืองไทยทางปักษ์ใต้ เมื่อตีได้หัวเมืองทางใต้แล้วจึงยกย้อนขึ้นมาทางเมืองเพชรบุรีและราชบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาให้พระยารัตนาธเบศร์ยกกองทัพมารับที่เมืองเพชรบุรี ได้ตั้งทัพคอยอยู่หลายวันไม่พบทัพพม่ายกมา จึงถอยทัพกลับไป ทัพพม่าจึงผ่านเมืองเพชรบุรีไปตั้งทัพอยู่ที่ราชบุรีได้โดยสะดวก เมื่อพระเจ้าอลองพญาเลิกทัพกลับไปแล้ว เมืองเพชรบุรีก็กลับมาเป็นของไทยอีก พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระโปรดเกล้าฯ ให้มังมหานรธามาตีเมืองทวายมะริดและหัวเมือง ปักษ์ใต้อื่นๆ แล้วจึงยกย้อนมาถึงเมืองเพชรบุรี ได้ปะทะกับกองทัพไทยของพระยาพิพัฒน์โกฏษากับพระยาตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) พม่าสู้ไม่ได้ต้องล่าทัพกลับไป เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 เมืองเพชรบุรีมิได้เกี่ยวข้องกับการรบพุ่ง แต่คงถูกทหารพม่าปล้นบ้าง เป็นที่น่าสังเกตว่าได้มีพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่เคยเสด็จประพาส เมืองเพชรบุรี คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังตำบล สามร้อยยอดเมืองเพชรบุรีทางสถลมารค ในปี พ.ศ. 2134 และประทับแรมที่นั้นเป็นเวลา 14 วัน เพื่อทรงเบ็ด หลังจากนั้นได้เสด็จมาประทับแรม ณ ตำหนักที่ตำบลโตนดหลวงเพื่อประพาสทะเลทรงเบ็ด และทรงพักแรมกลางทะเลเป็นเวลา 2 คืน รวมเวลาประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวง 12 วัน แล้วจึงเสด็จฯ เข้าเมืองเพชรบุรี สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอีกพระองค์หนึ่ง ที่เคยเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีเพื่อทรงเบ็ด เมื่อ พ.ศ. 2246 ประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเจ้าเสือเลยไปถึงตำบลสามร้อยยอดเพื่อทรงเบ็ด แล้วเสด็จย้อนกลับมายังตำหนักโตนดหลวง จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว พระยาเพชรบุรีและชาวเมืองร่วมกับเมืองอื่น ๆ อีก 11 เมือง ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325) ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2325-2394) เมืองเพชรบุรีคงเป็นหัวเมือง ชั้นตรีตามหลักการปกครองของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเพชรบุรีได้เข้าร่วมทำสงครามครั้งสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์หลายครั้ง เช่น สงคราม เก้าทัพในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2328) และในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเพชรบุรี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและ เจ้าเมืองสงขลาร่วมกันยกทัพไป ปราบหัวเมืองทางใต้คือไทรบุรีกลันตันที่คิดเอาใจออก***งจากไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพชรบุรีเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลราชบุรีใน พ.ศ. 2435 จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2476 เพชรบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยตามแบบการปกครอง ส่วนภูมิภาคในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศดี มีทัศนียภาพสวยงาม มีโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีประวัติย้อนหลังไปถึงสมัยขอมเรืองอำนาจทาง ดินแดนแถบนี้และในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นสิ่งก่อสร้างและภาพเขียนในพระอุโบสถตามวัดต่าง ๆ อันทรงคุณค่ายิ่ง ในปี พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครคีรีขึ้นบนยอดเขามหาสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองเพชรบุรี อยู่เป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากการเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เช่นใน พ.ศ. 2418, พ.ศ. 2429, พ.ศ. 2447, พ.ศ. 2452 และ พ.ศ. 2453 เพื่อทอดพระเนตรวัดวาอาราม พระนครคีรี ถ้ำ และทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศที่มาพักแรมที่เพชรบุรีในปี พ.ศ. 2452 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบ้านปืนเพื่อสำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง และทรงสร้างพระราชวังบ้านปืนที่ยังสร้างค้างอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่วเสร็จเรียบร้อย พระราชทานนามว่าพระรามราชนิเวศน์ ได้ทรงสร้างพระราชฐานชายทะเลคือค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ซึ่งต่อมาได้ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสร้างพระราชวังใหม่ที่ชะอำ เรียกว่าพระราชนิเวศน์มฤทายวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ก็ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองเพชรบุรีอยู่เป็นอันมาก ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์มาประดิษฐานไว้ ในองค์พระปรางค์ 5 ยอด วัดมหาธาตุวรวิหาร และได้เสด็จไปทรง ริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินและชลประทานหลายโครงการ เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ทำมาหากิน และช่วยกันจดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร เช่น โครงการหุบกะพงอันมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพชรบุรีจึงเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวเมืองมีความรักใคร่และยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์เพชรบุรี มีพระบรมราชานุสรณ์ที่น่าภาคภูมิใจ นั่นคือพระราชวังในอดีตถึง 3 แห่ง พระอารามหลายแห่งมีโบราณสถานอันสูงค่า ในพระอุโบสถมีภาพเขียนเก่าแก่ฝีมือเยี่ยม ตามประตูมีภาพแกะสลักสวยงาม ภูเขา ถ้ำ ทะเลสาบ และหาดทรายชายทะเลล้วนแต่น่าชมชวนให้เพลิดเพลิน ขนมหวานหลายหลากชนิดอร่อยชวนรับประทาน เพชรบุรีจึงนับเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบและเหมาะสมกับคำขวัญที่ว่า เขาวังคู่บ้าน ขนมหวาน เมืองพระเลิศล้ำศิลปะแดนธรรมะ ทะเลงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น